อภินิหารหุ้นจิ๋ว UAC ผลงานเติบโตดีแบบไม่มีดรอป

Press Release

“ยูเอซี โกลบอล” จากธุรกิจเทรดดิ้งสู่พลังงานทดแทน ก้าวย่างที่ผ่านมาอวดรายได้และกำไรเติบโตมั่นคงต่อเนื่อง ส่งผลให้ย้ายเข้าไปเทรดใน SET ได้อย่างเต็มภาคภูมิ หลังถูกการันตีให้เป็นหุ้นยั่งยืนในกลุ่ม mai 4 ปีซ้อนและการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาวของ IOD ผู้บริหารเร่งปั้นรายได้แตะ 5,000 ล้านบาทในปี 2566 เน้นพลังงานสะอาด รุกประมูลงานใหม่เพิ่มต่อเนื่อง ขณะ Q1 ปีนี้กำไรพุ่ง 53% ยันรักษาระดับของกำไรและ EBITDA ให้ได้ตามเป้า เดินหน้านำ UAPC เข้าตลาดปีนี้

พลังงานกลายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจต่าง ๆ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งบ้างก็เบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงานมากขึ้น นัยว่าเพื่อแตกไลน์และเพื่อเพิ่มรายได้จากหลายทางมากขึ้น ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากการรับรู้รายได้เพียงทางเดียว ขณะที่บางบริษัทอาจไม่ได้เริ่มต้นจากพลังงาน แต่คล้ายจะเลียบเคียงใกล้กับธุรกิจพลังงานก่อนจะเบนเข้าไปอย่างเต็มตัว

บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC หรือชื่อเดิมเริ่มแรกคือ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) ก่อนจะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อ 11 ตุลาคม 2553 ซึ่งเดิมทีนั้น UAC ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสารเคมี ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่นและปิโตรเคมี รวมทั้งยังมี โครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดจากฟาร์มสุกร (Compressed Bio-methane Gas ) (CBG) ที่เชียงใหม่ อีกทั้งธุรกิจเทรดดิ้ง(สารเคมีภัณฑ์) และธุรกิจพลังงานทดแทน

โดยขณะนั้นมี นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ก่อนจะสละตำแหน่งกรรมการผู้จัดการให้กับ นายชัชพล ประสพโชค เมื่อเดือน มิถุนายน 2557 หลังจากนั้น UAC ก็สร้างผลงานการลงทุนและผลประกอบการเติบโตขึ้นตามลำดับ กระทั่งทำให้บริษัทสามารถย้ายหุ้นเข้ามาเทรดใน SET ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเมื่อ 19 ก.พ.63 ที่ผ่านมา และต้องยอมรับว่า ตั้งแต่บริษัทดำเนินธุรกิจมา บริษัทฯมีความแข็งแกร่งในการขยายศักยภาพทางธุรกิจ ซึ่งจากสถิติจะเห็นได้ว่า UAC มีกำไรเสมอมาและจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะรายได้ก็ขยับขึ้นตามเป้าหมายทุกปีเช่นกัน

ดังนั้น หลังจากระดมทุนและเข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai แล้ว การลุยในด้านพลังงานก็เป็นไปตามแผน ตั้งแต่โครงการผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จาก Associated Gas ซึ่งได้รับสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในเขตจังหวัดสุโขทัย ซึ่ง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาปีละกว่า 303 ล้านบาท อีกทั้งโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดจากฟาร์มสุกรที่เชียงใหม่ และมีลูกค้าระยะยาวอย่าง ปตท. จึงรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ปลายปี 55 การลงทุนปีดังกล่าวทำให้ UAC ต้องเพิ่มทุนอีก 39.7 ล้านหุ้น พร้อมออกใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนต์ ( UAC-W1 ) 79.4 ล้านหน่วยแถมฟรี ให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 วอร์แรนต์

อย่างไรก็ดี UAC ไม่เคยหยุดนิ่งเพราะมีการลงทุนรวมทั้งการร่วมลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง เมื่อปี 56 ร่วมกิจการกับบริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO ด้วยการที่ UAC เพิ่มทุนแบบกำหนด วัตถุประสงค์ เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ HYDRO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ด้วยการออกหุ้นสามัญใหม่ไม่เกิน 194,984,380 หุ้น พาร์ 0.50 บาท เพื่อ ชำระเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ HYDRO อัตรา 1 หุ้นของ HYDRO ต่อ 1 หุ้นของบริษัท อีกทั้งซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ยูเอซี ไฮโดรเท็ค จำกัด ( UAC HYDRO ) ที่ถือโดย HYDRO ทั้งหมด ตามแผนการร่วมกิจการ

การควบรวมกิจการครั้งนี้จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทปรับเปลี่ยนไป โดยธุรกิจเทรดดิ้งจะมีสัดส่วนรายได้ราว 30% ธุรกิจรับก่อสร้าง ( EPC) 25% ธุรกิจจัดการระบบและบำรุงรักษา(O&M) 15% และธุรกิจพลังงาน 30% ทั้งนี้ ธุรกิจ O&M จะมีอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ดีที่สุด รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทรดดิ้ง ส่วน EPC รายได้จะไม่แน่นอนผู้บริหารกล่าวไว้

โควิด-สงครามการค้า กระทบแผน UAPC เข้าตลาด

เมื่อปี 58 UAC ได้ตั้งบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด หรือ APC มูลค่าไม่เกิน 730 ล้านบาท ซึ่ง APC ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยมีลาเท็กซ์อีมัลชั่นเป็นผลิตภัณฑ์หลัก รวมทั้งซื้อกิจการพลังงานทดแทนเพิ่ม ส่งผลให้ UAC มีโรงก๊าซ CBG ทั้งหมด 7 แห่ง และมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟ 4 โครงการ ด้วยกำลังไฟฟ้า 13 เมกะวัตต์ แถมยังศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจากชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่ม ซึ่งการลงทุนในโครงการด้านพลังงานทดแทนและเคมีภัณฑ์ต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่จะให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนขยับไปที่ 50% และธุรกิจเทรดดิ้ง 50%

ดังนั้น การเข้าซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่ง จากบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด คือ โรงไฟฟ้าเสาเถียรเอ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า ในปี 59 คือกลยุทธ์ที่ค่อย ๆ ก้าวเดินของ UAC ตลอดจนการตั้ง บริษัท พีพีดับบลิวอี จำกัด (PPWE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงาน และตั้ง บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด เป็นบริษัทย่อย เพื่อดำเนินธุรกิจโครงการก๊าซชีวภาพอัด(CBG) ถือเป็นการเริ่มแบ่งความชัดเจนของสัดส่วนรายได้จากแต่ละสายธุรกิจ

สำหรับการลงทุนนั้น UAC จะกันงบไว้ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนและขยายงานให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน ขณะเดียวกันธุรกิจเคมีภัณฑ์ ที่ดำเนินการโดย บริษัท ยูเอซี แอดวานซ์ โพลีเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) ซึ่งได้ขายสินค้าเข้าสู่ตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามหรือกลุ่มประเทศ CLMV เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก

ขณะที่รายได้ของ UAC จะพบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ที่เห็นชัดเจนคือนับจากปี57 ที่ 1.2 พันล้านบาท ปี58 แตะ 1.5 พันล้าน ส่วนปี 59 คือ 1.8 พันล้านบาท และจากตารางประกอบพบว่ารายได้ปี 61-62 ก้าวกระโดดอย่างชัดเจน นั่้นเพราะการเก็บเกี่ยวรายได้จากหลายโครงการที่ลงทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ COD เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลางปี 62 UAC ให้บริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุน 50.01% ในบริษัทร่วมทุนใหม่ในลาว ดำเนินโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานทดแทนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ มูลค่าเงินลงทุน 990 ล้านบาท และนี่จะเป็นอีกแหล่งรายได้ที่จะเข้ามาในปี 63

ขณะเดียวกันแผนการนำ บริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด หรือ UAPC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากสภาวะตลาดและสงครามการค้า รวมทั้งโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 และยืนยันว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ปีนี้

ย้ายเทรดใน SET ตอกย้ำศักยภาพ

จากผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องมาสะท้อนความแข็งแกร่งด้านฐานะทางการเงิน ตลอดระยะเวลา กว่า 10 ปีที่ผ่านมา และงบสิ้นปี 62 มีรายได้ 2,976 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 164 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 61 ที่ทำไว้ 2,668 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท ซึ่งจากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น บอร์ดบริษัทจึงอนุมัติให้จ่ายปันผลงวดปี 62 ในอัตราหุ้นละ 0.135 บาท เมื่อ 30 เมษายน 2563

ขณะที่ปีนี้ยังส่งสัญญาการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่คาดว่าเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 2/63 นี้ และเมื่อ 11 ก.พ.63 UAC ได้ย้ายเข้าเทรดใน SET ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC เผยว่า เชื่อว่าการย้ายไปซื้อขายใน SET จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ของบริษัทฯ มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มเสถียรภาพให้กับบริษัทฯ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา UAC ทำยอดขายที่เพิ่มขึ้นจาก 767 ล้านบาทในปี 2553 เป็นกว่า 2,800 ล้านบาทในปี 2562 แถมการจ่ายปันผลก็มีต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น การที่ UAC ได้รับ คัดเลือกให้เป็นหุ้นยั่งยืน ในกลุ่ม mai 4 ปีติดต่อกัน และยังได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว หรือ "ดีเลิศ" จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ของ IOD และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างใด

เดินหน้าประมูลหวังรายได้แตะ 5 พันล้านบาท

ผู้บริหาร UAC เผยแผนธุรกิจ 4 ปี (2563 - 2566) จะเน้นการลงทุนต่อเนื่องด้านพลังงานสะอาด Green Chemical และธุรกิจเทรดดิ้ง เพราะจะปรับสัดส่วนรายได้ให้เป็นไปตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น คือธุรกิจเทรดดิ้ง 40 % ธุรกิจเคมีภัณฑ์และธุรกิจด้านพลังงานทดแทน 60% อีกทั้งตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2566 แตะ 5,000 ล้านบาท และจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าขยะใน สปป.ลาว รวมทั้งรายได้จากโรงไฟฟ้าไบโอก๊าซ ที่ขอนแก่น กลางปี 2563 ขณะที่ธุรกิจไบโอดีเซลแนวโน้มการเติบโตที่ดี จะเป็นตัวหนุนรายได้ให้เติบโตต่อเนื่อง ถือว่ามีรายได้จากด้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนในระยะยาว อีกทั้งบริษัทจะเดินหน้าลงทุนต่อยอดในด้านธุรกิจพลังงานสะอาด Green Chemical-ธุรกิจเทรดดิ้ง

ปัจจุบัน UAC มีโครงการค้างท่อที่พร้อมยื่นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 2 โรงที่ขอนแก่น กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์และยังมีอีกหลายโครงการที่ยื่นประมูลในแล้วซึ่งอยู่ระหว่างรอผล

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน เปิดโครงการไฟฟ้าชุมชนมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการนี้ 700 เมกะวัตต์ คาดเปิดให้เอกชนยื่นสมัครในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และคาดว่ากระทรวงพลังงานจะเปิดให้เอกชนยื่นสมัครโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน (Quick Win) 100 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนหมุนเวียนมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาวัสดุเกษตร 2.5 หมื่นตัน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยผลักดันการลงทุนให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหลายแสนล้านบาท ในช่วงที่ประเทศเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 มีเม็ดเงินลงทุนและรายได้รวมกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทเตรียมยื่นสมัครด้วย เบื้องต้นได้เตรียมพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และขอนแก่น ไว้ 10 พื้นที่ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าว ทั้งนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3 เมกะวัตต์ต่อแห่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อแห่ง

ไตรมาสแรกกำไรพุ่งกว่า 53%

สำหรับไตรมาสแรกปี 63 UAC มีกำไรสุทธิ 103.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 35.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.1% และแม้รายได้จากการขายและบริการจะลดลง แต่ระดับอัตราผลกำไรขั้นต้น (gross margin) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 9.9% มาที่ 23.8% หรือเติบโต 13.9 % เมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ขยับขึ้นจาก 12.3% เป็น 29.1% หรือเพิ่มขึ้น 16.8% สำหรับส่วนแบ่งกำไรจาก บริษัท บางจาก ไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ซึ่งถือหุ้น 30% นั้น บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมของภาครัฐ ที่ให้ใช้ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยปรับให้มีการใช้น้ำมันดีเซลจาก B10 เป็น B20 ส่งผลให้ไตรมาสแรก BBF มีผลประกอบการที่โดดเด่น และบริษัทฯ ได้รับอานิสงส์ด้วย

“ ต้องยอมรับว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ภาพรวมการลงทุนทั้งประเทศและทั่วโลกต้องเจอสถานการณ์ที่เข้ามากดดัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ – จีน ล่าสุดมีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญต่อการลงทุน อีกทั้งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านลบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และ ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัทฯ ” นายชัชพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมุ่งมั่นพยายามรักษาระดับของกำไรให้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งส่วนของกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะสินค้าของบริษัทมีมาร์จิ้นสูง

ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายการลงทุน ทางธุรกิจทุกด้านทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชุน และการลงทุนในโครงการบริหารจัดการขยะ พร้อมโรงไฟฟ้าขยะ 6 เมกะวัตต์ ที่ สปป..ลาว ตามแผนอย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาสภาพคล่องของบริษัทฯ ให้อยู่ระดับสูง ล่าสุดเพิ่งชำระคืนเงินหุ้นกู้ 400 ล้านบาทที่ครบอายุในเดือนมิถุนายน 63

ล่าสุด บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี ซึ่งเปิดขายไปเมื่อวันที่ 15-17 มิถุนายน 63 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งเงินที่ได้ในครั้งนี้ เตรียมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านให้บริการธุรกิจพลังงานสะอาดชั้นนำของประเทศ

ชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC

ที่มา: mgronline