ก๊าซธรรมชาติ

ข้อมูลน่ารู้

ก๊าซธรรมชาติคืออะไร

ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) คือ เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีรูปเป็นก๊าซชีวภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบด้วยก๊าซมีเทน (Methane) ร้อยละ 70 ขึ้นไป รวมถึงสิ่งเจือปนอื่น ๆ ที่อยู่ในรูปของก๊าซเช่นกัน เช่น โพรเพน บิวเทน เพนเทน ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแหล่งก๊าซธรรมชาติแต่ละแห่งเป็นสำคัญ โดยก๊าซธรรมชาติสามารถค้นพบได้ในแอ่งใต้พื้นดิน บนบกหรือในทะเล หรืออาจพบร่วมกับน้ำมันดิบ หรือ คอนเดนเสท (ผลิตภัณฑ์ของเหลวไฮโดรคาร์บอนที่กลั่นตัวจากก๊าซธรรมชาติ) เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์พลังงานที่ปลอดภัยสูงสุดผลิตภัณฑ์หนึ่งในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร

ก๊าซธรรมชาติ คือ ปิโตรเลียมในสภาวะก๊าซที่มีอยู่ทั่วไปในโลก เกิดจากซากพืชและซากสัตว์นานาชนิดที่ทับถมกันกับโคลนทรายและกากตะกอนต่าง ๆ ที่ก้นทะเลจนอัดแน่นเป็นชั้น ๆ ภายใต้ความร้อนและแรงกดดันมหาศาลเป็นเวลาหลายร้อยล้านปีจนแปรสภาพเป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะของแข็ง คือ ถ่านหิน ของเหลว คือ น้ำมันดิบ และก๊าซ ซึ่งก็คือก๊าซธรรมชาตินั่นเอง โดยประเทศไทยได้มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งด้วยกันคือ ในทะเล ได้แก่ บริเวณอ่าวไทย และบนบก ได้แก่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ

  • ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี
  • มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ
  • ปราศจากการเจือปนของสารพิษ
  • สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีเขม่า
  • ติดไฟได้ที่อุณหภูมิ 537-540 องศาเซลเซียส
  • เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ส่งผลกระทบแก่สิ่งแวดล้อมน้อย

ก๊าซธรรมชาติมีอะไรบ้าง

ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ซึ่งสามารถแยกออกจากกันได้ด้วยการนำมาผ่านกระบวนการแยกเพื่อให้สามารถประโยชน์ได้เต็มที่ และจะได้เป็นก๊าซต่าง ๆ ดังนี้

  • ก๊าซมีเทน (Methane, C1)

    ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เซรามิก และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่รู้จักกันในชื่อก๊าซธรรมชาติอัด (Natural Gas for Vehicles: NGV) และสามารถนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี เมทิลแอลกอฮอล์ หรือแอมโมเนียมได้
  • ก๊าซอีเทน (Ethane, C2)

    นิยมใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นเพื่อนำไปผลิตเม็ดพลาสติกและเส้นใยพลาสติกเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงใช้ผลิตเอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเคมีอื่น ๆ
  • ก๊าซโพรเพน (Propane, C3)

    ส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตโพรพิลีนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) ซึ่งสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร ยางสังเคราะห์ได้
  • ก๊าซบิวเทน (Butane, C4)

    ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกและสารเคมีบางชนิด อาทิ อุปกรณ์การแพทย์ ยางรถยนต์ กระเป๋าเดินทาง เป็นต้น รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย
  • ก๊าซเพนเทน (Pentane, C5)

    เป็นก๊าซที่มีปริมาณน้อย สามารถใช้ในการผลิตปุ๋ยและเมทานอล และใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมบางประเภท
  • ก๊าซเฮกเซน (Hexane, C6)

    ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดสารอินทรีย์จากสมุนไพร ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเป็นตัวทำละลายสี ใช้ผสมสีหรือกาวในงานเฟอร์นิเจอร์ งานพ่นหรืองานทาสี และงานทากาวรองเท้า
  • เฮปเทน (Heptane, C7)

    ใช้เป็นตัวทำละลายที่ไม่มีขั้วในห้องปฏิบัติการขนาดเล็กและอุตสาหกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นตัวทำปฏิกิริยา ตัวทำละลาย และใช้สำหรับการสังเคราะห์สารอินทรีย์
  • ออกเทน (Octane, C8)

    ใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำมันเบนซิน

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติประกอบดด้วยสารประกอบที่เป็นประโยชน์หลากหลายชนิด ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแยกที่โรงแยกก๊าซแล้วจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตอื่น ๆ ดังนี้

  • ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (Natural Gasoline) ได้แก่ ก๊าซเพนเทน ก๊าซเฮกเซน และสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน และใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่นอุตสาหกรรมสีแลกเกอร์ ทินเนอร์อุตสาหกรรมยาง เป็นต้น
  • ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) ได้แก่ ก๊าซโพเพนและก๊าซบิวเทน ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในอุตสาหกรรมและครัวเรือน เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม

ประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ

  • สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายทั้งเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการทำความร้อน การปรุงอาหาร การผลิตไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์และเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกและสารเคมีอินทรีย์ที่มีความสำคัญทางการค้าอื่น ๆ
  • เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ
  • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากก๊าซธรรมชาติไม่มีฝุ่นออกไซด์ของกำมะถันหรือไนโตรเจนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  • ปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศโลกน้อยกว่า ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
  • มีประสิทธิภาพสูง มีการเผาไหม้สมบูรณ์
  • มีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน เนื่องจากเบากว่าอากาศ จึงลอยขึ้นเมื่อเกิดการรั่ว
  • ราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น ๆ เช่น น้ำมัน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
  • ช่วยลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงอื่น ๆ จากต่างประเทศได้มาก