พลังงานใช้แล้วหมดไป

ข้อมูลน่ารู้

พลังงานใช้แล้วหมดไปคืออะไร?

พลังงานใช้แล้วหมดไป (Non-renewable Energy) หรือ พลังงานสิ้นเปลือง (Conventional Energy) คือ พลังงานที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในปริมาณจำกัด ซึ่งวันหนึ่งสามารถหมดไปได้ แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่หรือสังเคราะห์ทดแทนกันได้ เนื่องจากเกิดขึ้นไม่ทันความต้องการ เพราะต้องใช้เวลานานนับร้อยล้านปีเพื่อสร้างขึ้นใหม่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดของพลังงาน ได้แก่

  • พลังงานสิ้นเปลืองที่เป็นฟอสซิล (Fossil Energy) เป็นพลังงานที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ภายใต้เปลือกโลกหรือท้องทะเลเป็นเวลานานหลายร้อยล้านปีจนทำให้ซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นเปลี่ยนสภาพไปเป็นเชื้อเพลิงที่อาจอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ อาทิ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น
  • พลังงานสิ้นเปลืองที่ไม่ใช่ฟอสซิลหรือพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Energy) เป็นพลังงานที่เกิดจากการแตกตัว รวมตัว และสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสีแล้วปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของพลังงานความร้อน สามารถนำมาประโยชน์ในการสร้างความร้อนและผลิตไฟฟ้า

แหล่งพลังงานใช้แล้วหมดไป

  • ปิโตรเลียม (Petroleum)

    น้ำมันปิโตรเลียม หรือ น้ำมันดิบ เป็นน้ำมันดิบที่ได้จากหิน เกิดจากการสลายตัวของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ และแร่ธาตุบางชนิดที่สะสมทับถมกันมายาวนานจนกลายเป็นของเหลวที่อยู่ใต้ผิวโลกทั้งบนบกและในทะเล น้ำมันดิบประกอบด้วยธาตุหลัก 2 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนและไฮโดรเจน และในบางครั้งอาจมีธาตุอโลหะ (เช่น กำมะถัน) ออกซิเจน และไนโตรเจนปะปนอยู่ด้วย ในการนำน้ำมันดิบมาใช้จะต้องสูบขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อนำมาผ่านกระบวนการกลั่นจนได้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น
  • ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)

    ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปของก๊าซ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีส่วนประกอบ คือ มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และกำมะถันในปริมาณที่ต่ำมาก มักพบในเหมืองถ่านหิน บริเวณบ่อก๊าซ และใต้ดินในบริเวณเดียวกับที่พบน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์และสะอาดกว่าพลังงานอื่น ๆ จึงไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอัตราที่ต่ำมาก ปัจจุบันได้มีการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการประกอบอาหารไปจนถึงเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ
  • ถ่านหิน (Coal)

    ถ่านหิน คือ หินชนิดหนึ่งที่สามารถติดไฟได้ โดยเป็นตะกอนที่เกิดจากการสะสมทับถมกันของซากพืชในลุ่มน้ำหรือแอ่งตะกอนน้ำตื้นตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี จนเมื่อมีการทับถมของตะกอนมากขึ้น หรือผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ก็จะทำให้ความกดดันและความร้อนจนทำให้ซากพืชเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงกลายเป็นถ่านหินชนิดต่าง ๆ เช่น พีต ลิกไนต์ ซับบิทูมินัส บิทูมินัส แอนทราไซต์ เป็นต้น ในถ่านหินประกอบด้วยธาตุหลัก ๆ คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน ถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของโลก และเป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
  • นิวเคลียร์ (Nuclear Energy)

    นิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ประกอบด้วยอนุภาคโปรตรอนและนิวตรอน เกิดขึ้นจากการแตกตัว (Fission) หรือการรวมตัว (Fusion) ของนิวเคลียสภายในอะตอมและถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของพลังงานความร้อนและพลังงานรังสี ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้าได้ ส่วนประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์นั้นสามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งเป็นพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเรือเดินสมุทร ยานอวกาศ ด้านการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจ รักษา และวินิจฉัยโรค ด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ในเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพ และการเกษตรที่สามารถใช้ในการปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช กำจัดแมลง เป็นต้น

ผลกระทบของพลังงานใช้แล้วหมดไป

ในกระบวนการผลิต แปรรูป และใช้ประโยชน์พลังงานสิ้นเปลืองหรือพลังงานใช้แล้วหมดไปล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของแหล่งพลังงานที่เหลืออยู่บนโลก การเกิดภาวะมลพิษจากการเผาไหม้หรือปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ ตลอดจนผลกระทบที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากการใช้พลังงาน อาทิ การเกิดก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ฝนกรดและมลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน การเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดของเสีย การรั่วไหลของน้ำมันและอุบัติเหตุอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทั้งสิ้น